หน้าแรก > ผลงานชิ้นโบว์แดง > สามล้อถีบ : งานแรงคนท่ามกลางเครื่องยนต์

สามล้อถีบ : งานแรงคนท่ามกลางเครื่องยนต์

สมัยนี้เครื่องจักรกลหรือเครื่องยนต์ดูเหมือนจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นมานานหลายปีเลยที่เดียว กิจกรรมหลายอย่างที่เคยใช้แรงงานของคนเริ่มหดหายลงไป

            แต่ใช่ว่าจะหมดไปเสียทีเดียว

            เมื่อบางอย่างแรงงานจากคนนั้นสำคัญยิ่งนัก

            ถนนหลายสายในตัวเมืองนครศรีธรรมราชที่คลาคล่ำไปด้วยบรรดาพาหนะนานาชนิด ที่เบียดเสียดกันอยู่บนท้องถนน ทั้งรถส่วนตัวและรถรับจ้าง ที่ดูเหมือนจะรีบเร่งไปสู่จุดหมายให้เร็วที่สุด

            ทว่ากลับมีพาหนะอีกหนึ่งชนิดที่เคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ไม่เร่งรีบ ด้วยสองขาที่ปั่นนำพาผู้โดยสารไปถึงจุดหมาย

            ดูแล้วช่างกลมกลืนอย่างไม่น่าเชื่อ

            เมื่อบนถนนที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและเสียงเครื่องยนต์ที่ดังกระหึ่ม

            สามล้อถีบ  กลับเคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างสงบ

   สามล้อที่จอดเรียงรายตามจุดต่างๆของตัวเมืองนครศรีธรรมราช 3 คันบ้าง 4 คันบ้าง 5 คันบ้าง หรือแม้กระทั่งจอดอยู่เพียงคันเดียว ถ้าหากสังเกตดูระยะหนึ่ง เป็นเวลานานทีเดียวกว่าจะเคลื่อนตัวออกไปสักครั้ง

            ชายวัยกลางคน ซึ่งโดยส่วนใหญ่อายุมากกว่า 40 ปี หรือบางคนเราอาจจะคิดว่าไม่น่าจะยังปั่นไหวอยู่ นั่งประจำอยู่บนสามล้อของตัวเอง รอคอยผู้โดยสารมาใช้บริการ ซึ่งอาจจะมากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไปในแต่ละวัน

            “มันไม่แน่นอน…บางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้…” ลุงพล คนถีบสามล้อที่ตลาดหลังวิกดาว บอก

            ลุงพล หรือนายชุมพล ใสสุวัตน์ ยึดอาชีพถีบสามล้อมากว่า 20 ปี หลังจากที่อพยพมาจากอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่อายุ 30 ปี แม้ว่าตอนนี้รายได้จาการถีบสามล้อจะไม่ค่อยดีเท่าไรนักเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน แต่ลุงพลยังคงยึดอาชีพนี้ควบคู่ไปกับการเลี้ยงหมูที่บ้าน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง

            เช่นเดียวกับลุงวิเชียร ที่ทำอาชีพถีบสามล้อ โดยเลือกจอดรอรับผู้โดยสารบริเวณหน้าห้างสหไทย ควบคู่ไปกับการขนของกับรถหกล้อที่ถือเป็นอาชีพหลักเนื่องจากรายได้ดีกว่าการถีบสามล้อ

            แต่ใช่ว่าสามล้อทุกคันจะมีรายได้เสริม บางคัน ถีบสามล้อเป็นอาชีพเพียงอย่างเดียว

            น้อยคนนักที่มีความคิดอยากจะนั่งสามล้อหากไม่นึกสนุก เพราะถ้าจะเลือกสามล้อเป็นพาหนะที่เดินทางเป็นประจำคงไม่ทันใจใครหลายๆคน

            นักท่องเที่ยวหนึ่งในผู้ที่นิยมใช้บริการสามล้อถีบ ถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่ทำรายได้ให้กับสามล้อได้ดีโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่นิยมการนั่งสามล้อไปเที่ยวชมวัดพระธาตุ หรือนั่งสามล้อชมเมือง

            ลุงละไม คนถีบสามล้อที่จอดประจำบริเวณหน้าโรงแรมไทยโฮเต็ล ทำหน้าที่รับผู้โดยสารที่เป็นแขกของโรงแรมไปยังสถานที่ต่างๆ

            โรงแรมแห่งนี้ทำช่องไว้สำหรับจอดสามล้อไว้บริการนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติ

            ลุงละไมเล่าว่า พนักงานจะเป็นคนบอกกับลุงเองว่าจะให้ไปส่งที่ไหน แล้วหากต้องสื่อสารกันเอง ภาษามือคือสิ่งที่ต้องใช้เป็นประจำ

            บ้างคนก็พูดไทยได้หน่อยๆ ถ้าเกิดเขาพูดไทยไม่ได้เราก็ทำมือทำไม้ เวลาชาวต่างชาติมาบอกก็จะพูดว่า “ไปๆสามล้อไปๆ” เสียงลุงพลเล่าขณะที่ยังนั่งอยู่บนสามล้อ

            แต่ถ้าหากเจอคนที่พูดไม่ได้ แล้วหนังสือก็ไม่มีก็ต้องพยายามหาคนที่สามารถสื่อสารให้ได้ มาช่วย

            นั่งรอผู้โดยสารกันทั้งวัน ภารกิจแก้ง่วง แก้เซ็งของบรรดา ชายที่เลยวัยหนุ่มมาแล้วมีอะไรบ้าง

            นอกจากการเรียกผู้โดยสารแล้ว  การพูดคุยเรื่องปากท้อง พูดถึงเรื่องการเมืองก็เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้เลยทีเดียว

            “บางทีจอดนานๆไม่มีคนมันก็เบื่อเหมือนกัน แต่ว่าก็ต้องสู้ เราก็นั่งดูดยา (ใบจาก) หรือไม่ก็หลับ”

ลุงพลว่า พลางแซวสามล้อคันข้างที่จอดอยู่ด้วยกันที่กำลังเคลิ้มหลับไปจากการรอคอยผู้โดย

            “เป็นแบบนี้แหละ พอเค้ามาเรียกก็ค่อยไป มันไม่แน่นอน ถ้าไม่มีรายได้เสริมบ้างก็ลำบากเหมือนกัน แต่ว่าเราว่ามันไม่ลำบาก ชีวิตเรามันไปไม่รอดซะแล้ว จะไปทำงานอื่นก็ไม่ได้ มันทำได้แต่แรงไม่พอเสียแล้ว”

            คนที่นั่งสามล้อก็ลดลงไปพร้อมกับจำนวนรถสามล้อที่ยังคงมีให้เห็นอยู่

            รถจักรยานสามล้อถีบคันแรกในเมืองไทยเริ่มมีขึ้นในราวปี พ.ศ. 2476 ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยนายเลื่อน พงษ์โสภณ เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น และได้แก้ไขปรับปรุงอยู่หลายครั้งจึงนำมาจดทะเบียนในกรุงเทพฯได้

            สามล้อได้วิวัฒนาการและใช้เป็นพาหนะที่สำคัญในกรุงเทพฯต่อมาเป็นเวลาช้านาน จนกลายเป็นอาชีพหลักของคนยากจน โดยเฉพาะชาวต่างจังหวัดที่ประกอบอาชีพถีบสามล้อกันเป็นจำนวนมาก

            ปีพ.ศ. 2506 ได้ยกเลิกการจดทะเบียนจักรยานสามล้อและจักรยานสามล้อส่วนบุคคลที่ใช้ในจังหวัดพระนครและธนบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2507 เมื่อเลิกรถสามล้อในกรุงเทพฯ รถสามล้อที่มีอยู่เป็นจำนวนมากก็ระบายออกต่างจังหวัดจนหมดสิ้น

            สามล้อที่วิ่งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชปัจจุบันมีประมาณ 49 คันทั่วเมืองนคร จากเดิมเมื่อประมาณ 30ปี ที่แล้วมีถึง 700 คัน

            สามล้อถีบจะมีทั้งหมด 5 ยี่ห้อ คือโชคชัย วันชัย แสงฟ้า ม้าขาว และนครโกเนียบ แต่โดยส่วนใหญ่คนนิยมใช้ ยี่ห้อโชคชัยและวันชัย ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีการผลิตออกมาจำหน่ายแล้ว

            เมื่อก่อนสามล้อถีบจะมีการประดับตกแต่งรถให้สวยงาม มีการประดับไฟรถสามล้อเนื่องจากมีการวิ่งสามล้อในเวลากลางคืน ซึ่งบางครั้งอาจเลิกถึงเที่ยงคืน เนื่องจากเป็นเพียงพาหนะเดียวที่ให้บริการในขณะนั้น

            “ตอนนี้กลางคืนเค้าไม่ถีบกันแล้ว เมื่อก่อนจะถีบกลางคืนด้วย เพราะรถเครื่องรับจ้างไม่มี ตีสิบสองกลางคืนถึงได้เข้าบ้านแต่เดี๋ยวนี้ กลางคืนเขาก็ไม่สู้นั่งเสียแล้ว เราก็เลยไม่ต้องตามไฟ”

            ความสวยงามของสามล้อในตอนนี้จึงดูลดลงไปย่างมาก แต่ยังคงเห็นได้บ้าง อย่างรถสามล้อของลุงพล สามล้อของลุงวิเชียร และสามล้อคันอื่นๆที่มีการนำดอกไม้ปลอมมาประดับตกแต่งรถเพื่อความสวยงาม รวมถึงป้ายทะเบียนสามล้อที่ยังคงติดกันอยู่แม้ว่าสามล้อไม่ต้องขึ้นทะเบียนแล้วก็ตาม

            แต่คงจะหาสามล้อที่มีแสงไฟวิบวับในตอนกลางคืนยากทีเดียว ทำได้แค่เพียงนึกจินตนาการเพียงเท่านั้น

            เนื่องจากสามล้อทั้งคันนั้นไม่มีบริษัทใดผลิตออกจำหน่ายอีกแล้ว ดั้งนั้นเมื่อสามล้อเสีย วิธีเดียวคือการซ่อมจากของเดิมโดยการซื้ออะไหล่มาเปลี่ยน

            ทางเข้าเล็กๆที่อยู่ลึกเข้าไปในซอยหลังโรงเรียนกัลยานีศรีธรรมราช เป็นที่ตั้งของบ้านที่รับซ่อมสามล้อ

            บังหลาหรือนายสมรักษ์ เจ๊ะสมัน รับซ่อมสามล้อมาประมาณ 10 ปี โดยศึกษาการซ่อมมาจากคนอื่นที่เคยซ่อมอยู่ก่อน เป็นการสืบต่อรุ่นต่อรุ่น โดยส่วนใหญ่เป็นการนำของเก่าที่มีอยู่มาซ่อมใหม่ เนื่องจากอะไหล่มีราคาและไม่มีการผลิตแล้ว

            เนื่องจากปริมาณสามล้อที่มีน้อยลง การสั่งซื้ออะไหล่จึงสั่งในปริมาณที่น้อยลงด้วยเพราะหากสั่งมาไว้ในปริมาณที่เยอะแล้วไม่ได้ใช้ อะไหล่เหล่านั้นก็จะเสื่อมคุณภาพ

            การซ่อมสามล้อถ้าต้องซ่อมทั้งคันจะใช่เวลาประมาณหกเดือน

            “บางทีก็ถอดจากหลายๆคันมารวมเป็นคันเดียวก็มี”

            ส่วนที่แพงที่สุดของสามล้อคือตัวถัง ที่มีราคา 2-3 พันบาท หรือถึงหกพันบาทก็มี แต่สามารถใช้ได้นานเป็นปีๆ

            มีการคาดการว่าประมาณ 20 ปี สามล้อน่าจะหมดไป เมื่อคนรุ่นที่ถีบอยู่ปัจจุบันเป็นคนรุ่น 70-80 ทั้งนั้นเมื่อคนรุ่นนี้หมด สามล้อก็น่าจะหมด

“อนาคตไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อสามล้อหมดไปจะไปยึดอาชีพอะไร…จะรอดูว่าใครจะเป็นคนสุดท้ายที่ถีบสามล้อ”

            สามล้อถีบค่อยๆลดลงไปพร้อมๆกับการเพิ่มจำนวนขึ้นของมอเตอร์ไซด์รับจ้าง

            ชายวัยกลางคนจนถึงแก่ชราที่ถีบสามล้อกับคนวัยหนุ่มที่ขับมอเตอร์ ไซด์

            แรงงานคนกับเครื่องยนต์

            ความขัดแย้งที่อยู่ร่วมกันสองฝากฝั่งถนน

            ถนนบริเวณหน้าห้างสหไทย ห้างสรรพสินค้าชื่อดังของเมืองนครศรีธรรมราช

            ฟากหนึ่งคือที่จอดรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ส่วนอีกฝากเป็นที่จอดสามล้อถีบ

            เสียงเครื่องยนต์จากยานพาหนะหลากหลายชนิดดังอยู่ตลอดเวลา สามล้อถีบ 5-6 คันทยอยเข้ามาประจำที่ตั้งแต่เช้าตรู่ รอรับผู้ที่จะใช้บริการ

            ถ้าหากคิดว่าอาชีพทั้งสองนี้ยังแย่งผู้โดยสารกันจ้าละหวั่น ก็คงต้องบอกว่าเหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้น

            “ระหว่างสามล้อกับรถเครื่องรับจ้างราคาก็พอกัน แล้วแต่ว่าใครจะชอบนั่ง เค้าจะไปรถอะไรก็เรื่องของเค้า” ลุงพลบอกแม้ว่ามอเตอร์ไซด์รับจ้างจะเร็วกว่า แต่มันแล้วแต่คนชอบ

            ใครอยากนั่งสบายๆ กินลมไปเรื่อยๆสามล้อคงเหมาะ เนื่องจากมีหลังคาที่ช่วยบังแสง ลมอ่อนโชยมาไม่ได้ทำให้รู้สึกร้อนแต่อย่างไร

            แต่ถ้าใครต้องการความรวมเร็วเร่งด่วน มอเตอร์ไซด์รับจ้างน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

            การถีบสามล้อนั้นถ้าใครที่ไม่เคยถีบ ไม่มีความชำนาญจะไม่สามารถถีบได้ สามล้อจะวิ่งลงข้างถนน ถ้าหากเทียบรถจักรยานธรรมดา รถสามล้อจะยากกว่า เพราะสองล้อจะค้ำได้ แต่สามล้อค้ำไม่ได้ พลิกก็พลิกเลย ซึ่งลุงพลบอกว่าเคยพลิกถึงสามครั้ง ในขณะที่มีผู้โดยสารนั่งท้าย

            ถ้าหากจะให้คนขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้างมาถีบสามล้อ พี่คนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างบอกทันทีว่า

            “ไม่คิดจะถีบ มันเหนื่อย”

            ดูเหมือนคนวัยหนุ่มที่เกิดมาพร้อมความสะดวกสบาย จะไม่ชื่นชอบการถีบสามล้อเสียเลย

            เสียงแซวข้ามถนนระหว่างวินมอเตอร์ไซด์รับจ้างกับสามล้อถีบ ยังดังขึ้นเป็นระยะ

            มอเตอร์ไซด์แล่นออกจากที่จอดคันแล้วคันเล่าพร้อมผู้โดยสารข้างหลัง ขณะที่สามล้อบางคันก็แล่นออกจากที่จอดทั้งๆที่เบาะหลังยังคงว่างเปล่า

            ท้องถนนในตัวเมื่อนครศรีธรรมราชยังวุ่นวาย เสียงบีบแตรไล่ตามหลังรถสามล้อถีบคันข้างหน้า เร่งให้สามล้อเพิ่มความเร็ว ดังไม่ขาดสาย

            คนถีบสามล้อทำสัญญาณมือเป็นสัญลักษณ์ว่ากำลังจะเลี้ยวซ้าย ตรงไปยังบ้านหลังหนึ่งในซอยหลังโรงเรียนกัลยานีฯ  หลังจากส่งผู้โดยสารคนนี้เสร็จแล้ว จึงแวะรับผ้ายางกันฝนสำหรับสามล้อ

            ถึงแม้ว่าคนที่ใช้บริการสามล้อจำนวนลดน้อยลงทุกวัน หันมาเรียกใช้มอเตอร์ไซด์รับจ้างหรือสองแถวที่จอดอยู่ทั่วทุกมุมเมืองแทน

            แต่ด้วยความรักในอาชีพถีบสามล้อ สามล้อคันเก่งคันนี้ยังคงได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ปรับปรุงเตรียมพร้อมรับผู้ที่ชื่นชอบการนั่งรถสามล้อได้เป็นอย่างดี

            ลมโชยมา พร้อมหลังคาที่ป้องการความร้อนจากแสงแดด มองไปรอบข้าง เก็บรายละเอียดสิ่งที่ดีๆที่หากนั่งมอเตอร์ไซด์หรือสองแถวคงไม่มีโอกาสได้เห็น

            สามล้อที่ยังขับเคลื่อนไปอย่างช้าๆแม้ว่าโลกจะหมุนเร็วขึ้นทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน

  1. มีนาคม 22, 2010 เวลา 1:42 am

    น้องยา ว่าง ไปนั่งสามล้อถีบกันน่ะ พี่นั่งแล้วอ่ะสบายมาก ๆ นั่งแล้วทำนางเอกมิวสิคไปด้วยอ่ะ อิอิ

  2. มีนาคม 22, 2010 เวลา 2:52 am

    สามล้อที่ยังขับเคลื่อนไปอย่างช้าๆแม้ว่าโลกจะหมุนเร็วขึ้นทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน

    จบแบบเก๋ๆมากค่ะ

  1. No trackbacks yet.

ใส่ความเห็น